สนามบินสำรอง (Alternate Aerodrome)

จากกรณีเมื่อคืนวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่เครื่องบินรุ่น A380-861 (A388) ของสายการบิน Emirates เที่ยวบิน EK363 / UAE363 เส้นทางบิน กวางโจว (CAN)- สุวรรณภูมิ (BKK) ได้ทำการเปลี่ยนสนามบินลงจอดจากสุวรรณภูมิ (BKK) มาลงจอดชั่วคราวที่สนามบินดอนเมือง (DMK) เวลา 20.50 น. เนื่องจากไม่สามารถนำเครื่องไปลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ตามเวลาที่กำหนด สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยนั่นเอง

การที่นักบินทำการเปลี่ยนไปลงที่สนามบินสำรอง หรือ Alternate Aerodrome นั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถดำเนินการได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ICAO กำหนดสนามบินสำรองเป็น สนามบินที่เครื่องบินสามารถดำเนินการลงจอดได้เมื่อสนามบินหลักไม่สามารถ หรือไม่สมควรที่จะใช้ในการลงจอด ซึ่งสนามบินสำรองต้องมีการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สามารถตอบสนองความต้องการด้านประสิทธิภาพของเครื่องบิน และใช้งานได้ตามเวลาที่กำหนดไว้
สนามบินสำรองอาจใช้ในกรณี ดังนี้
Take-off Alternate: สนามบินที่เครื่องบินสามารถทำการลงจอดได้หากมีความจำเป็นหลังจากเครื่องขึ้นไปแล้ว และไม่สามารถวนกลับมาใช้สนามบินต้นทางในการลงจอดได้
En-route Alternate: สนามบินที่เครื่องบินจะลงจอดได้ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางบินระหว่างทาง
Destination Alternate: สนามบินที่เครื่องบินสามารถลงจอดได้ ในกรณีที่ไม่สามารถทำการลงจอด หรือไม่สมควรลงจอดที่สนามบินปลายทางเดิม
ทั้งนี้ ต้องมีการกำหนดและระบุสนามบินสำรองปลายทางอย่างน้อยหนึ่งแห่งในทั้งแผนการบินของนักบิน (Operational Flight Plan) และแผนการบินสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Service Flight Plan – ATS Flight Plan)
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกสนามบินสำรอง
- ความยาวทางวิ่งขึ้น และ ลง
- ความสามารถในการรองรับน้ำหนักของเครื่องบิน
- ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) เช่น ทางวิ่ง (Taxiway) หลุมจอด งวงช้าง (Jet Bridge, Aerobridge) และอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น
Airbus 380 (A380)
เครื่อง A380 จัดอยู่ในประเภทเครื่องบิน Code F ตามหลักการของ Aerodrome Reference Code ของ ICAO ซึ่งเครื่อง A380 มีระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้าง (wingspan) มากกว่า 65 เมตร แต่ไม่ถึง 80 เมตร และมีระยะห่างระหว่างล้อหลักด้านนอกทั้งสองข้าง (outer main gear wheel span) 14 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง 16 เมตร

ข้อมูล | ระยะ |
ความยาวทางวิ่งอ้างอิงของอากาศยาน (Aircraft Reference Field Length) | 3,350 เมตร |
ระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้าง (wingspan) | 79.8 เมตร |
ระยะห่างระหว่างล้อหลักด้านนอกทั้งสองข้าง (outer main gear wheel span) | 14.3 เมตร |
สนามบินดอนเมือง สามารถรองรับเครื่อง A380 ได้?
สนามบินดอนเมืองมีทางวิ่ง (Runway) ทิศทาง 03L/21R ที่มีความยาว 3,700 เมตร และทิศทาง 03R/21L มีความยาว 3,500 เมตร จึงสามารถรองรับเครื่อง A380 ที่มีความยาวทางวิ่งอ้างอิงของอากาศยาน (Aircraft Reference Field Length) อยู่ที่ 3,350 เมตรได้ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ หลุมจอด, Jet bridge อาจจะไม่สามารถรองรับการขนถ่ายผู้โดยสารได้
สนามบินของไทยที่รองรับ A380 ได้
- สนามบินสุวรรณภูมิ (BKK)
- สนามบินเชียงใหม่ (CNX)
- สนามบินอู่ตะเภา (UTP)
- สนามบินดอนเมือง (DMK) – เป็นสนามบินสำรองเท่านั้น
ในกรณีของ EK363 / UAE363 นั้น ก็เป็นการลงจอดฉุกเฉินตามแผนการบินปกติที่ได้มีการระบุสนามบินดอนเมือง (DMK) เป็นสนามบินสำรอง (Destination Alternate) ตามที่ระบุไว้ในแผนการบิน ถึงแม้ว่าหลุมจอดและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สนามบินดอนเมืองจะไม่สามารถรองรับ A380 ได้ แต่การลงจอดฉุกเฉินครั้งนี้เป็นการลงจอดเพื่อเติมเชื้อเพลิง และรอสภาพอากาศให้กลับมาปกติเท่านั้น เมื่อทุกอย่างพร้อม เครื่องก็ได้ทำการบินกลับไปยังสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนการบินเดิม
Fun Facts:
เวลาที่ใช้ในการบินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ ถึง สนามบินดอนเมือง ประมาณ 21 นาที ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร
อ้างอิง
- https://www.airportia.com/flights/ek363/bangkok/bangkok/?date=2022-09-07
- https://www.flightradar24.com/data/flights/ek363
- https://skybrary.aero/articles/alternate-aerodrome
- ศิษย์เก่าหลักสูตรการจัดการการบิน รุ่นที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย